Challenge accepted!

Lifestyle

  • Pen: tete Illustrator| Palita Chaleepote
  • Lens:

Posted: 08 May 2018


Challenge accepted!


 
            ถ้าคุณกำลังเริ่มอ่านบรรทัดนี้ ผมขออนุญาตพาคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปประมาณยี่สิบปี

            ในยุคที่ความรุ่งเรืองทางเทคโนโลยียังไม่จัดจ้าน เด็กอย่างเราก็จำเป็นต้องมองหาความบันเทิงแบบแอนะล็อกในการปะทะฝีมือ ความสามารถ ชิงไหวชิงพริบกัน เพื่อความเป็นที่หนึ่งของหมู่บ้าน โชคดีที่แม้ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้มีบทบาทกับชีวิตเรามาก แต่ต้องขอขอบคุณเหล่านักคิดนักสร้างทั้งหลายที่บันดาลความสนุกในรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป และไม่ได้จำกัดอยู่บนจอสี่เหลี่ยมกับนิ้วกลม ๆ ของเราเพียงเท่านั้น

            ยุคนั้นเรามีการละเล่นของเด็ก (บางครั้งผู้ใหญ่ก็มาเล่นด้วย) มากมายให้เลือก โดยเฉพาะการละเล่นที่เป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิงศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้ชายหัวเกรียน เช่น เป่ากบ เป่ารถกระดาษ ปั่นลูกข่าง เกมเศรษฐี บันไดงู ดีดลูกแก้ว (อันนี้บางคนที่พลังนิ้วเยอะจะโหดมาก เพราะเขาจะดีดลูกแก้วเราแบบไม่ไว้พลังจนลูกแก้วของเราบิ่น และนำมาใช้ไม่ได้อีกต่อไป)

            แต่ท่ามกลางการละเล่นเหล่านั้น มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่านอกจากความสนุกในการแข่งขันแล้ว มันยังทดสอบความสามารถของเราในอีกหลายมิติ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การกำหนดกลยุทธ์ บททดสอบจิตวิทยามนุษย์ และอีกมากมาย (เลยเหรอ)

            ใช่แล้ว, มันคือการแข่งเป่าดินน้ำมัน! โดยการนำดินน้ำมันซึ่งเป็นไอเท็มแห่งความสนุกและสัญลักษณ์แห่งการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ส่วนบุคคลของยุคนั้นปั้นเป็นสนามแข่งที่ซับซ้อน และปั้นดินน้ำมันเป็นลูกกลม ๆ เป่าไปตามทางที่ถูกสร้างขึ้นกระทั่งไปถึงเส้นชัย

            ความสนุกของการเล่นเป่าดินน้ำมันเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างสนาม เพราะสนามจะซับซ้อน ยาก-ง่าย หรือสนุกแค่ไหนนั้น สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการมีดินน้ำมันที่มากเพียงพอ ในกรณีที่ดินน้ำมันมีน้อย แต่ความครีเอทสูง ก็อาจได้สนามแข่งที่สวยงามในความยาวไม่ถึงสิบเซ็นต์ฯ เป่าปื๊ดเดียวลูกบอลดินน้ำมันก็พุ่งทะลุเส้นชัยไปโดนหน้าเพื่อนแล้ว

            ในข้อนี้ความแอดวานซ์คือ ใครที่มีหัวทางด้านสถาปัตย์ตั้งแต่เด็กในยุคนั้นก็มักจะมีความพยายามพลิกแพลงเส้นทางให้ยากขึ้นไปอีกระดับ เช่น การม้วนทางตีลังกาหนึ่งตลบ (บางทีก็สิบตลบ) จนนึกว่า อาจารย์ทาดาโอะ อันโด มาปั้นเสียเอง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครเป่าผ่านไปได้ (ไอ้คนทำทางก็ไม่ผ่าน) เพราะลูกกลมมักตกลงมาก่อนถูกตอนแรงโน้มถ่วง (แล้วมึงจะปั้นให้ยากทำไม?) บ้างก็สร้างเป็นอุโมงค์ผาเมือง ซึ่งเป่าเข้าไปปุ๊ป ปรากฏว่าลูกบอลดินน้ำมันก็ไม่โผล่มาอีกฝั่ง เพราะมึงปั้นอุโมงค์แคบเกินจนลูกบอลมันไปติดข้างใน แล้วก็ต้องมาลำบากแก้สนามใหม่อีก (มั่นใจว่าไอ้พวกที่ปั้นสนามยาก ๆ โตมามันต้องเรียนสถาปัตย์แน่ ๆ) และอีกสารพัดความครีเอทเท่าที่ความตูดหมึกของเด็กยุคนั้นจะสรรค์สร้างได้

            หลังจากได้สนามแข่งขันแล้ว ความสนุกต่อมาแน่นอนว่าคือการแข่งขัน ในการเล่นแบบนี้มักจะเล่นได้ทีละคน เพราะข้อจำกัดในการสร้างสนามที่สามารถสร้างได้รางเดียว (บางกรณีที่บ้านมีอันจะกินสามารถซื้อดินน้ำมันมาประเคนได้เป็นเข่ง ก็จะ Break the rule ได้ และสร้างเป็นสนามรางคู่ แข่งกันทีเดียวพร้อมกันไปเลย) แต่ส่วนใหญ่มักจะสร้างเป็นรางเดียว วิธีเล่นคือ เริ่มเป่าตั้งแต่จุดสตาร์ท เป่าไปเรื่อย ๆ ตามเส้นทาง หากเป่าลูกบอลดินน้ำมันหลุดไปตรงส่วนไหนของสนามก็ต้องหยุดพัก เพื่อให้อีกคนมาเป่าต่อ จนกว่าอีกคนนั้นจะเป่าหลุดรางบ้าง คนแรกจึงจะกลับมาเริ่มเป่าในจุดที่ตัวเองเป่าหลุดรางไป

            ในจุดนี้ นอกจากเราจะเห็นอนาคตของเด็กบางคนที่จะกลายเป็นสถาปนิกในอนาคตแล้ว เรายังได้เห็นอนาคตของเด็กที่จะกลายเป็นนักฟิสิกส์ และนักร้อง เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ

            การแข่งขันนั้น สิ่งสำคัญคือการเป่าลมออกจากกระบังลมเพื่อให้ลูกบอลดินน้ำมันไหลไปตามทาง ดังนั้นการ “กลยุทธ์” หรือ “เทคนิค” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากใช้ลมไม่ดี ไม่ถูกจังหวะ หรือใช้ความแรงของลมเป็นหลัก ลูกบอลก็อาจหลุดรางไปได้ง่าย ๆ เด็กที่มีหัวฟิสิกส์สังเกตง่าย ๆ ว่ามักจะมีการเล็งเป็นอย่างดี และไม่เป่าสุ่มสี่สุ่มห้า พวกเขาจะวัดองศาและ ความโค้งเว้าของเส้นทาง เพื่อกำหนดระยะการเป่าให้ถูกต้อง และไม่หลุดรางออกไป

            ในแม้จะกำหนดทิศทางอย่างถูกต้องแล้ว สิ่งที่ยากกว่าคือการบังคับลมหายใจ ในกรณีนี้ เด็กที่มีความเป็นนักร้องมาตั้งแต่เด็กจะได้เปรียบ เพราะพวกเขาจะต้องซ้อมร้องเพลงในห้องน้ำทุกวันจนรู้วิธีการกำหนดและบังคับลมหายใจ ในการเป่าแต่ละครั้งให้ได้ปริมาณลมที่พอดี (แต่บางคนที่มีแววเป็นนักโอเปร่าแต่เด็กเป็นข้อยกเว้น เพราะเขาอาจต้องใช้ลมหายใจในปริมาณมากเสมอ อันนี้ช่วยไม่ได้จริง ๆ)

            แน่นอนว่ามีดีย่อมมีร้าย นอกจากเราจะเห็นแววของเด็กที่เป็นอนาคตในด้านดีแล้ว ก็จะมีเด็กบางกลุ่มที่ตั้งตนเป็นด้านมืด เป็นตัวขี้โกงตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่การพยายามเป่าลมแทรกในขณะที่อีกฝ่ายกำลังเล่น เพื่อให้ลูกบอลดินน้ำมันของอีกฝ่ายนั้นปลิวออกจากราง บ้างพอตัวเองเป่าหลุดออกจากราวไปแล้ว ตอนที่เอื้อมมือไปหยิบลูกบอลดินน้ำมันของตัวเองเพื่อมาพักรอก็อาจมีการเนียนเอานิ้วโป้งหรือนิ้วชี้แอบกดบางส่วนของรางให้กลายเป็นทางลาดลง กะว่าอีกฝ่ายจะได้มาเป่าแล้วหลุดทางตรงจุดนั้น

            เห็นมั้ยครับ การละเล่นของเด็กยุคก่อนทั้งสนุก เชือดเฉือน มีประโยชน์ และแทรกด้วยวิธีคิดขนาดไหน

            (ส่วนใครจะเติบโตมาแล้วได้เป็นนั่นเป็นนี่ตามที่ผมทำนายไว้หรือไม่ ตอนนี้พวกคุณก็คงรู้กันดีแล้วล่ะ... ใช่มั้ย เด็กเก้าศูนย์ทั้งหลาย)