บัณฑิต – บัณเฑาะก์

Lifestyle

  • Pen: Pinsel
  • Lens: Nirut Phimonprasoetsuk

Posted: 09 March 2018


บัณฑิต - บัณเฑาะก์ 
เป็นบัณฑิต เป็นกะเทย เป็นได้เลย ไม่ต้องรอ
 
 
บัณฑิต [บันดิด] น. ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีซึ่งมี ขั้น
คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต
 
บัณเฑาะก์ [บันเดาะ] น. กะเทย.
(ป.
,
 ส. ปณฺฑก อภิธาน ว่า กะเทย, ซิลเดอร์ และมอร์เนียร์ วิลเลียม ว่า ขันที). 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
 
 - 1 - 
บัณฑิตบัณเฑาะก์ 

ก่อนจะกล่าวถึงสิ่งอื่นใดใน FINE READ ฉบับนี้ ทาง FINE DAE ต้องขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตรุ่นที่ 52 แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เพิ่งเข้าร่วมพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไว้ ณ บรรทัดนี้ เชื่อว่าบรรยากาศแห่งความยินดีนั้นจะยังคงอบอวลอยู่ในความทรงจำของบัณฑิต พ่อแม่ และใครหลาย ๆ คนไปอีกนานวัน 
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความยินดีในหมุดหมายสำคัญวันหนึ่งของ บัณฑิต ทุกท่านแล้ว ยังอยากชวนผู้อ่านมาร่วมแสดงความยินดีกับหมุดหมายสำคัญอีกก้าวหนึ่งของ บัณเฑาะก์ หลาย ๆ ท่านอีกด้วย 

 
    มีใครอยากแสร้งเป็นคนอื่นไหม ในวันสำคัญของตัวเอง
    คำถามนี้คงตอบได้ไม่ยากนัก และทุก ๆ คนให้คำตอบมาในทางเดียวกัน  ไม่ 

เช่นเดียวกับกลุ่มบัณฑิตที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มบัณฑิตที่มีความหลากหลายทางเพศ” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ เป็นตัวเอง ในวันสำคัญที่สุดของชีวิตอีกวันหนึ่ง 


        ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรมาแล้วกว่า 51 รุ่น  ยังไม่มีบัณฑิตรุ่นไหนที่ได้รับอนุญาตให้แต่งตัวตามเพศสภาวะ หากมีเพศสภาวะไม่ตรงกับเพศกำเนิด นั่นหมายถึง ในวันสำคัญที่สุดของชีวิต บัณฑิตทั้ง 51 รุ่นที่ผ่านมานั้น ต้องเลือกระหว่างสิทธิ์ในความเป็น บัณฑิต กับสิทธิ์ในความเป็น บัณเฑาะก์ คือ หากเลือกจะเข้าพิธีฯ ก็ต้องแต่งตัวตามเพศกำเนิด หรือหากจะแต่งตัวตามเพศสภาวะ ก็ไม่ต้องเข้าร่วมพิธี 

        จนกระทั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2560 หลังจากการเคลื่อนไหวอันยาวนานของกลุ่มบัณฑิตที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านความสนับสนุนของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ก็มีข่าวดีสำหรับบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่น 52 เกิดขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกประกาศ เรื่อง การแต่งกายและข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 52 ฉบับที่ 2 ขึ้น โดยใจความเพิ่มเติมในประกาศฉบับนี้ คือการแจ้งให้ “บัณฑิตที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด และประสงค์จะแต่งกายตามเพศสภาวะที่แสดงออกในปัจจุบัน” นั้นสามารถยืนคำร้องต่อมหาวิทยาลัยได้  หรือแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาไทยอีกทีได้ว่า บัณฑิตรุ่นที่ 52 นี้เอง เป็นรุ่นแรกที่สามารถเป็นได้ทั้ง บัณฑิต และ บัณเฑาะก์ ในวันรับปริญญา! 
 

 
 - 2 - 
เครื่องแบบใต้ครุยนั้น สำคัญไฉน?
 

        ท่ามกลางกระแสความยินดีเมื่อมีการเปิดกว้างต่อการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศของบัณฑิตครั้งนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ตั้งคำถามว่าเสรีภาพในการแต่งกายตามความพอใจของบัณฑิตในพิธีสำคัญนี้เหมาะสมหรือไม่ และมีความจำเป็นเพียงใดที่บัณฑิตจะต้องแต่งกายตามเพศสภาวะ แทนที่จะแต่งกายให้ตรงกับคำนำหน้าเช่นที่ผ่านมา 

        เหตุผลที่ว่าเครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องแบบที่มีเกียรติจึงควรให้ความสำคัญ ถูกยกมาใช้เสมอเมื่อมีการเรียกร้องจากบัณฑิตทุกรุ่น ทุกมหาวิทยาลัย และดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุผลที่หนักแน่นพอให้มหาวิทยาลัยยังคงยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรเรื่อยมา ประโยคเดิม ๆ ที่ว่า ครั้งหนึ่งเดียวในชีวิตนักศึกษา ก็ควรทำตัวให้ถูกต้องเหมาะสม ถูกย้ำซ้ำไปซ้ำมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม เนิ่นนานจนมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า การใส่เครื่องแบบตรงกับเพศสภาวะนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติเครื่องแบบอย่างไร? 

        หากเรามองว่าเครื่องแบบเป็นสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนของใครสักคนหนึ่ง การแสดงความซื่อสัตย์ด้วยการปฏิเสธที่จะเป็นคนอื่นด้วยการใส่เครื่องแบบของคนอื่น จะไม่ใช่หนทางที่ดีกว่าในการให้เกียรติเครื่องแบบนั้น ๆ หรือ 

        หรือหลายคนอาจลืมนึกไปว่า การให้เกียรติผู้อื่นที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดนั้น ต้องเริ่มต้นจากการให้เกียรติตัวเราเอง ด้วยการรักษาสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของตัวเองก่อน? 
 




 - 3
 - 
สิทธิ์ / คนบ้า / คำนำหน้า / กะเทย 

 
        ปรากฏการณ์ บัณฑิตบัณเฑาะก์ ที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นเรื่องน่ายินดี - โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นอย่างใกล้เคียงกับความถูกต้องเหมาะสมมากกว่าครั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา 

        กาลครั้งหนึ่งกะเทยไทยเคยได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดีแต่กลับต้องแลกมาด้วยการถูกระบุในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อใบ สด.43) ให้เป็น โรคจิตวิปริต นัยว่าเป็นความพิการรูปแบบหนึ่ง เพื่อทำให้กะเทยเป็น บุคคลที่ไม่สามารถใช้งานได้ ถูกกฎหมาย และน่นอนว่า เมื่อถูกติดป้ายให้เป็นบุคคลที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว สิ่งที่ตามมาย่อมเป็นผลเสียมากกว่าผลดี 

        การทำงานในระบบราชการ หรือบริษัทต่าง ๆ สำหรับกะเทยที่ถูกติดป้ายจากกองทัพว่า ใช้การไม่ได้ กลายเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ก็ใช้ข้อกำหนดเดียวกันในการคัดเลือกคนเข้าองค์กรด้วยเช่นกัน หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ หากกะเทยไม่อยากเป็นทหาร กะเทยก็ต้องยอมเป็นบ้า และเมื่อเป็นบ้าแล้ว ก็ไม่มีองค์กรใด ๆ อยากรับเข้าทำงาน เพราะกะเทยถูกแปะป้ายว่าเป็นคนบ้า! 

        จนกระทั่งการแปะป้ายจากกองทัพนั้นค่อย ๆ ขยับจาก โรคจิตวิปริต มาเป็น จิตผิดปกติอย่างถาวร และเป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด คือค่อย ๆ เปลี่ยนความหมายจากกะเทยเป็นแรงงานที่ ใช้การไม่ได้ มาเป็นกะเทยเป็นแรงงานที่ กองทัพไม่ใช้ ซึ่งให้ความหมายแตกต่างกันพอสมควร  อย่างไรเสีย การจะเข้าเงื่อนไขภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้น กะเทยจะต้องมีการดำเนินการทางแพทย์ เพื่อให้แพทย์ยืนยันว่า บุคคลนี้เป็นแรงงานที่ไม่เหมาะกับกองทัพ (จริง ๆ นะ) 

        เมื่อหันมามองการเดินทางของ บัณฑิตบัณเฑาะก์ ก็จะเห็นว่าทั้งสองกรณีนี้ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากเหล้าเก่าในขวดใหม่ 


        หลายคนอาจไม่ทราบว่า จุดเริ่มต้นในการแต่งกายตามเพศสภาพเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตบัณเฑาะก์นั้นมีมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีนี้ บัณฑิตในหลายมหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญกับการถูกแปะป้ายโดยการใช้ใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันในความเป็นกะเทย จึงชวนให้ตั้งคำถามว่า คน ๆ หนึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะยืนยันในความเป็นตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน หรือแพทย์จะมีสิทธิ์ยืนยันความเป็นกะเทยของเราได้มากกว่าตัวเราเอง? 

        อย่างไรก็ตาม การร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพของบัณฑิตที่มีความหลากหลายทางเพศในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งที่ 52 นี้มีวิถีทางที่ต่างออกไป ด้วยการเริ่มต้นจากสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการมองเห็นความหลากหลายแห่งเพศวิถีเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็นอาการป่วย บัณฑิตจึงมีสิทธิ์ร้องขอโดยใช้หลักฐาน และคำอธิบายจากตัวบัณฑิตเอง ว่าได้แสดงเจตจำนงในการเลือกเพศวิถีของตนเองอย่างชัดเจนแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์หรือถูกแปะป้ายจากใครอีก 

        ในขณะที่วงการ LGBTQ นานาประเทศนั้นก้าวเข้าสู่การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน สิทธิ์ในความเป็นผู้ปกครองของบุตร การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือแม้กระทั่งการงดเว้นการระบุเพศในใบเกิดของทารก เพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสเลือกเพศวิถีของตนเองได้อย่างเสรีหลังจากรู้ความแล้ว สังคมไทยเราอาจก้าวตามช้าไปบ้าง แต่การก้าวเดินอีกก้าวนี้ ก็นับเป็นอีกก้าวที่เปิดกว้างให้ความหลากหลายมากขึ้น และถือเป็นนิมิตรหมายที่น่ายินดี 

        - น่ายินดีในความเป็นกะเทย น่ายินดีในความเป็นบัณฑิต และน่ายินดีในความเป็นมนุษย์ .