จากภาพโยนีของกูร์แบสู่ซากเสือดำที่ถูกถลกหนังในทุ่งใหญ่นเรศวร ประวัติศาสตร์อย่างย่อว่าด้วยการล่าและถูกล่า 

Lifestyle

  • Pen: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ Illustrator: Palita Chaleepote
  • Lens:

Posted: 20 March 2018

จากภาพโยนีของกูร์แบสู่ซากเสือดำที่ถูกถลกหนังในทุ่งใหญ่นเรศวร
ประวัติศาสตร์อย่างย่อว่าด้วยการล่าและถูกล่า 

  - 1 - 
 
            ก่อนที่คุณจะเดินเข้าไปยังโถงนิทรรศการฝั่งซ้ายด้านในบนชั้นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musee d’Orsay) ในกรุงปารีส เพื่อจะพบภาพ The Origin of the World หรือภาพโคลส-อัพของผู้หญิงที่กำลังนอนแยกขาเปลือยเปล่า (ครับ, มันคือรูปจิ๋มนั่นเอง) ภาพเขียนที่เป็นที่ถกเถียงและมีชื่อเสียงมากที่สุดของกุสตาฟ กูร์แบ (Gustave Courbet) ศิลปินชาวฝรั่งเศส คุณจะพบภาพเขียนในยุคต้นของกูร์แบเรียงรายให้ชมอย่างละลานตาก่อนหน้า เหล่านั้นคือภาพแนวสัจนิยมที่ถ่ายทอดทัศนียภาพสมจริง อันเต็มไปด้วยภาพทิวทัศน์ธรรมชาติและการล่าสัตว์

            กุสตาฟ กูร์แบ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1819-1877 ในยุคที่ใครต่อใครกำลังให้ความสนใจกับงานศิลปะสไตล์โรแมนติกที่เน้นอารมณ์และความฟุ้งฝันแบบจินตนาการนิยม กูร์แบเลือกที่จะทำงานศิลปะที่สะท้อนภาพความเป็นจริง (Realism) ดวงตามองเห็นอะไรก็ใช้พู่กันวาดมันให้เป็นอย่างนั้น เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการวาดภาพชาวนา กรรมกร หรือคนเร่ร่อน รวมทั้งทิวทัศน์ธรรมชาติที่เขาถ่ายทอดออกมาได้งดงามเป็นพิเศษ ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ออร์แซถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่สะสมผลงานของกูร์แบไว้มากที่สุด โดยในจำนวนหลายสิบภาพของศิลปินที่จัดแสดงในนั้น เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นภาพกิจกรรมการล่าสัตว์ หนึ่งในงานอดิเรกยอดนิยมของผู้มีอันจะกินในศตวรรษที่ 19

            อย่างไรก็ดี แทบไม่มีนักวิจารณ์หรือนักประวัติศาสตร์ศิลป์คนไหนเขียนหรืออ้างอิงถึงผลงานจิตรกรรมการล่าสัตว์ของกูร์แบเลยสักภาพ กูร์แบบถูกยุคสมัยจดจำในงานจิตรกรรมของผู้คนชายขอบ ทิวทัศน์อันตรึงตรา และภาพโยนีอันลือลั่น   

 

 - 2 - 
 
             ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ออร์แซในเขต 3 ของกรุงปารีส Musée de la Chasse et de la Nature คือพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ ฟร็องซัวส์ ซงมอร์ (Froncois Sommor) อดีตทหารอากาศที่ร่ำรวยจากการทำโรงงานผลิตยาง มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1904-1973 ฟร็องซัวส์เป็นอีกคนที่มีงานอดิเรกคือการเดินทางไปแอฟริกาเพื่อล่าและนำสัตว์ที่ล่าได้มาสตัฟฟ์ไว้ประดับบ้าน แม้จำนวนสัตว์ป่าที่เขาล่ามาได้มีมากมายเสียจนสามารถจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างทุกวันนี้ได้เลย หากก็เป็นเรื่องย้อนแย้งทีเดียวที่เขาและภรรยากลับเป็นผู้ริเริ่มกระแสอนุรักษ์สัตว์ป่าและผลักดันให้มีมาตรการควบคุมการล่าสัตว์ของชาวผิวขาวในแอฟริกา – ประกายของมนุษยธรรมอันน้อยนิดที่ปรากฏขึ้นในศตวรรษที่ 20
 

 - 3 - 
 
            The Most Dangerous Game คือหนึ่งในเรื่องสั้นที่โด่งดังมากที่สุดในโลกวรรณกรรมภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1924 โดยริชาร์ด คอนเนลล์ นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มผู้หลงใหลกีฬาล่าสัตว์จากนิวยอร์กตั้งใจจะเดินทางไปล่าสัตว์ที่ผืนป่าแอมะซอน หากประสบอุบัติเหตุเรือล่มและเขาว่ายน้ำไปพบเกาะแห่งหนึ่งในทะเลแคริบเบียน เกาะแห่งนั้นมีปราสาทที่เศรษฐีชาวรัสเซียมาสร้างไว้ เขาได้พบกับเศรษฐีชาวรัสเซียผู้นั้นและพบว่าเจ้าของปราสาทก็เคยชอบล่าสัตว์เหมือนกัน แต่ทุกวันนี้เจ้าบ้านเลิกล่าสัตว์หันมาเสาะหาความท้าทายใหม่ด้วยการล่ามนุษย์ที่หลงเข้ามาบนเกาะแทน...คอนเนลล์เขียนเรื่องสั้นที่สนุกและมีฉากน่าตื่นเต้นเรื่องนี้โดยตั้งใจจะเสียดสีกระแสความนิยมในกีฬาล่าสัตว์ของชนชั้นสูงในสหรัฐอเมริกาที่มักจะเดินทางไปล่าสัตว์ที่แอฟริกาและอเมริกาใต้ในห้วงทศวรรษ 1920
 

 - 4 - 
             
            ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักการเลี้ยงปศุสัตว์หรือการเพาะพันธุ์สัตว์บางชนิดเพื่อมาประกอบอาหาร การล่าสัตว์ถือเป็นความจำเป็นในการดำรงชีพ มนุษย์ล่าสัตว์ได้ก่อนจะมีการประดิษฐ์ภาษา และเราพัฒนาอาวุธขึ้นมาก็เพื่อกระบวนการดังกล่าวก่อนที่เราจะรู้จักการทำศึกสงครามด้วยซ้ำ กระนั้นก็เช่นเดียวกับการสงคราม การล่าสัตว์ก็ถือเป็นเครื่องแสดงสถานะทางอำนาจและความเป็นชายชาตรีของผู้ล่าด้วยเช่นกัน
           
            กีฬาล่าสัตว์ถูกบรรจุให้เป็นกีฬายอดนิยมของชนชั้นสูง เมื่อประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ทหารสามารถครอบครองปืนไรเฟิลเป็นของตัวเองในศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปและอเมริกาต่างหลั่งไหลเดินทางไปยังดินแดนอาณานิคมของพวกเขาเพื่อเสาะหาความเพลิดเพลินจากการล่า ไม่ต่างจากบรรพบุรุษของพวกเขาที่เคยล่าผู้คนในดินแดนเหล่านั้นเพื่อจับมาเป็นแรงงานทาส มีการเขียนหนังสือ ‘คู่มือการล่าสัตว์’ และ ‘คู่มือนักกีฬา’ ที่เป็นความเรียงว่าด้วยศิลปะของการล่าสัตว์ และสนับสนุนให้เกิดการล่าอย่างยุติธรรม (ยุติธรรมในที่นี่หมายถึงความยุติธรรมต่อผู้ล่าด้วยกัน ไม่ใช่ยุติธรรมต่อสัตว์) แม้ในศตวรรษต่อมาจะเริ่มมีการรณรงค์หรือการออกตกลงร่วมกันในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ล่า (เช่นการห้ามยิงสัตว์เพศเมียทุกชนิด หรือการห้ามยิงสัตว์ใกล้แหล่งน้ำ เป็นต้น) หากเมื่อมองในอีกมุม การแสดงออกซึ่งมนุษยธรรมด้วยมาตรการดังกล่าว ก็ไม่ต่างจากวิธีการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้พวกมันได้มีศักยภาพในการผลิตลูกหลานมาให้มนุษย์ได้ออกล่าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 - 5 - 
 
              แม้การล่าสัตว์ยังถือเป็นกีฬาที่ถูกกฎหมายในต่างประเทศ หากสายตาของโลกในปลายศตวรรษที่ 20 – 21 ก็เริ่มมองว่ากิจกรรมของผู้มีอันจะกินเช่นนี้ถือเป็นความป่าเถื่อนเหลือทนเสียแล้ว เช่นในปี 2015 ที่มีทันตแพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และไล่ล่าจากผู้คนสังคมออนไลน์เพราะเขาโพสต์ภาพตัวเองกับศพของสิงโตที่เขาล่ามาได้ในซิมบับเว หรือแม้จะเป็นเชื้อพระวงศ์อย่างสมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน คาร์โลส ที่ 1 แห่งสเปนก็ยังเคยถูกกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF ปลดจากตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และถูกโถมทับด้วยกระแสความโกรธแค้นและการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนทั่วโลก จากการที่เขาเดินทางไปล่าช้างที่บอตสวานา เมื่อปี 2006 แม้ครั้งนั้นเขาจะไปอย่างถูกกฎหมายก็ตาม

             โลกเราเดินทางมาถึงยุคสมัยที่เราต่างมีบทเรียนทางด้านมนุษยธรรมให้ศึกษานับกรณีไม่ถ้วน และยุคสมัยก็ยังได้สร้างทางเลือกสำหรับการแสดงออกหรือการเข้าถึงซึ่งมนุษยธรรมไว้หลากหลายมิติและระดับ – เรามีเทคโนโลยีในการสังเคราะห์วัตถุดิบสำหรับใครที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วัสดุที่ผลิตจากหนังสัตว์ เรามีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากมาย ทั้งในระดับกระแสหลักที่มาจากฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ กระแสรองที่เลือกจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ใดๆ ด้วยไม่ว่าจะเหตุผลด้านสุขภาพหรือความเห็นอกเห็นใจ หรือกระทั่งเลือกรับประทานจากฟาร์มปศุสัตว์ที่เลี้ยงด้วยวิถีออร์แกนิก รวมทั้งกิจกรรมทางเลือกอีกมากมายที่สามารถสร้างความตื่นเต้น ท้าทาย และเพลิดเพลินอันไม่ได้เกิดจากการฆ่า

             และแม้ทางเลือกในมนุษยธรรมที่เรามีจะยังไม่ช่วยให้ผู้คนต่างความเชื่อหรือศาสนาเลิกที่จะรบราฆ่าฟันกันได้ หากอย่างน้อย ทางเลือกนี้ก็ทำให้คนรุ่นหลังตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชีวิตและการรักษาความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติไว้ต่อไป และเริ่มมองกีฬาล่าสัตว์ไม่ต่างจากกิจกรรมของพวกไร้การศึกษาและอารยธรรม
 


 - 6 - 
 
            นั่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอย่างใดหากผู้คนในสังคมออนไลน์ในบ้านเราถึงเฝ้าติดตามอย่างเดือดดาล ถึงผลการดำเนินคดีนักธุรกิจใหญ่รายหนึ่งที่ถูกจับกุมได้พร้อมซากเสือดำและสัตว์ป่าอื่นๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งทำให้นักธุรกิจชื่อดังรายนั้นได้รับการเปลี่ยนสถานะจากผู้ล่ากลายมาเป็นผู้ถูก (สังคม) ไล่ล่าแทน

            อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลลัพธ์ของคดีความอันเป็น talk of the town ในบ้านเราเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร (มีหลายคนค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าหลังจากหนึ่งเดือนที่มีการจับกุมและตั้งข้อหา หากยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ จากเจ้าหน้าที่ นี่จะเป็นอีกหนึ่งคดีที่คนร่ำรวยในประเทศนี้รอดตัวจากความผิดที่เขาก่อต่อไป) กระนั้น – ขออภัยที่เนื้อความต่อจากนี้อาจมีส่วนเสี้ยวของการเหยียดเพศ - ทุกครั้งที่ผู้เขียนมองใบหน้าของนักธุรกิจดังผู้นี้ผ่านหน้าจอทีวีหรือสื่อสังคมออนไลน์ พานนึกถึงห้วงเวลาของมนุษย์ผู้พร้อมพรั่งทั้งด้านความสะดวกสบายและเทคโนโลยีลั่นไกฆ่าสัตว์ป่าที่ไร้ทางสู้ด้วยความเพลิดเพลินหรือจะด้วยเหตุผลใดอื่นก็ตาม จินตนาการของผู้เขียนก็กลับเชื่อมโยงไปถึงผลงานจิตรกรรมของกุสตาฟ กูร์แบ ที่ผู้เขียนเคยไปชมในพิพิธภัณฑ์ออร์แซได้อย่างแปลกประหลาด

            ไม่ นั่นไม่ใช่ภาพจิตรกรรมการล่าสัตว์ที่ผู้เขียนคิดนึกหรอก แต่เป็นใบหน้าของนักธุรกิจท่านนั้นที่ถูกทาบทับด้วยภาพ The Origin of the World ต่างหาก